พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คือ การดำเนินธุรกิจ โดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ECRC Thailand,1999)
พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คือ การผลิต การกระจาย การตลาด การขาย หรือการขนส่งผลิตภัณฑ์ และบริการโดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ (WTO,1998)
พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คือ ขบวนการที่ใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อทำธุรกิจที่จะบรรลุเป้าหมายขององค์กร พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ใช้เทคโนโลยีประเภทต่าง ๆ และครอบคลุมรูปแบบทางการเงินทั้งหลาย เช่น ธนาคารอิเล็กทรอนิกส์, การค้าอิเล็กทรอนิกส์, อีดีไอหรือการแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์, ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์, โทรสาร, แคตตาล็อคอิเล็กทรอนิกส์, การประชุมทางไกล และรูปแบบต่าง ๆ ที่เป็นข้อมูลระหว่างองค์กร (ESCAP,1998)
พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คือ ธุรกรรมทุกรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ทั้งในระดับองค์กร และส่วนบุคคล บนพื้นฐานของการประมวล และการส่งข้อมูลดิจิทัล ที่มีทั้งข้อความ เสียง และภาพ (OECD,1997)
พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คือ การค้าขายผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต อินเทอร์เน็ตจะเปลี่ยนวิถีทางการดำรงชีวิตของทุกคน อินเทอร์เน็ต จะเปลี่ยนวิธีการศึกษาหาความรู้ อินเทอร์เน็ตจะเปลี่ยนวิธีการทำมาค้าขาย อินเทอร์เน็ตจะเปลี่ยนวิธีการหาความสุขสนุกสนาน อินเทอร์เน็ตจะเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่าง และทุกสิ่งทุกอย่างจะรวมกันเข้ามาหาอินเทอร์เน็ต
พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คือ การทำธุรกิจทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขึ้นอยู่กับการประมวล และการส่งข้อมูลที่มีข้อความ เสียง และภาพ ประเภทของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการขายสินค้า และบริการด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์, การขนส่งผลิตภัณฑ์ที่เป็นเนื้อหาข้อมูลแบบดิจิทัลในระบบออนไลน์, การโอนเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์, การจำหน่วยหุ้นทางอิเล็กทรอนิกส์, การประมูล, การออกแบบทางวิศวกรรมร่วมกัน, การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ, การขายตรง, การให้บริการหลังการขาย ทั้งนี้ใช้กับสินค้า (เช่น สินค้าบริโภค, อุปกรณ์ทางการแพทย์) และบริการ (เช่น บริการขายข้อมูล, บริการด้านการเงิน, บริการด้าน กฎหมาย) รวมทั้งกิจการทั่วไป (เช่น สาธารณสุข, การศึกษา, ศูนย์การค้าเสมือน (Virtual Mall) (European union,1997)
พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic commerce) หรือ อี-คอมเมิร์ช (E-Commerce) คือ การทำธุรกรรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในทุกช่องทางที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การซื้อขายสินค้าและบริการ การโฆษณาผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ โทรทัศน์ วิทยุ หรือแม้แต่อินเทอร์เน็ต เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดค่าใช้จ่าย และเพื่มประสิทธิภาพขององค์กร โดยการลดบทบาทองค์ประกอบทางธุรกิจลง เช่น ทำเลที่ตั้ง อาคารประกอบการ โกดังเก็บสินค้า ห้องแสดงสินค้า รวมถึงพนักงานขาย พนักงานแนะนำสินค้า พนักงานต้อนรับลูกค้า เป็นต้น จึงลดข้อจำกัดของระยะทาง และเวลาลงได้
องค์ประกอบของระบบอีคอมเมิร์ซ # 1. สินค้า (Product) สินค้า คือ สิ่งแรกที่ต้องมีและเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ เพราะสินค้าที่เป็นความต้องการของผู้ซื้อและสังคม ย่อมขายได้ง่าย มีราคาสูง ดังนั้นผู้ประกอบธุรกิจจึงต้องศึกษา ค้นคว้า ผลิตสินค้าจากการพัฒนาเชิงนวัตกรรม เพื่อให้ได้สินค้าที่ดีมีคุณภาพออกสู่ตลาด แต่ถ้าสินค้ามีดีเฉพาะในมุมมองของผู้ขายเพียงฝ่ายเดียว ไม่ใช่สิ่งที่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายต้องการ สิ่งนั้นอาจขายไม่ได้ การประกอบธุรกิจก็จะไม่บรรลุเป้าหมายตามแผนที่วางไว้ 2. เว็บไซต์ (Website) ช่องทางการจัดจำหน่ายที่แต่เดิมนั้น ต้องมีหน้าร้านอยู่ในทำเลที่ดี ในห้างสรรพสินค้า ในตลาดสด หรือทำเลทองกลางใจเมือง จึงจะขายสินค้าให้กลุ่มลูกค้าในบริเวณนั้นได้ แต่ปัจจุบันผู้ขายสามารถเปิดหน้าร้านออนไลน์ ที่ลูกค้าคือผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจากทั่วโลก สามารถเข้าถึงและสั่งซื้อได้จากทุกที่ ทุกเวลา ดังนั้นข้อมูลสินค้าที่มีมากเพียงพอ มีช่องทางหลากหลาย ทั้งในสื่อสังคม เว็บไซต์ ระบบอีคอมเมิร์ซ โทรศัพท์ แชท หรือไลฟ์สด ที่สร้างความน่าเชื่อถือ สดใหม่ ย้อนไปอ่านความคิดเห็นชื่นชม (Review) ของลูกค้าเก่าได้ จะช่วยให้ลูกค้าใหม่ตัดสินใจได้ง่าย ซึ่งผู้จำหน่ายสินค้าในปัจจุบันจะพยายามใช้ทุกช่องทางที่เป็นไปได้ อาจมีทั้งร้านค้าออฟไลน์และออนไลน์ไปพร้อมกัน 3. การโฆษณาประชาสัมพันธ์ (Promote/Advertising) การทำให้ลูกค้าได้รู้จักสินค้าและบริการมีวิธีการอยู่มากมาย อาทิ ติดป้ายไวนิล ป้ายบิวบอร์ดตามมุมถนน ติดป้ายบนรถไฟฟ้า ยืนแจกใบปลิวตามมุมถนน ลงโฆษณาทั้งทางตรงหรือแอบแฝงไปกับหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ โทรทัศน์ หรือผ่าน Net Idol, Influencer การโฆษณากับ facebook, google, youtube หรือจ้างบริษัทที่ปรึกษามาวางแผนโฆษณาประชาสัมพันธ์เป็นวิธีการที่ส่งข้อมูลสินค้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างได้ผล 4. ลูกค้า (Customer) ลูกค้าคือใคร เป็นคำถามที่สำคัญที่สุดในการทำธุรกิจ แม้จะเปิดหน้าร้านก็ต้องเปิดให้ใกล้กับกลุ่มลูกค้าที่จะมาใช้บริการ เช่น หน้าโรงงาน ข้างโรงเรียน หรือติดกับส่วนราชการ ถ้าเปิดขายผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ หรือสื่อสังคม ก็ต้องทราบว่าลูกค้าจะเข้าถึงสินค้าได้อย่างไร อาจโพสต์ขายสินค้าตามกลุ่มที่สัมพันธ์กับสินค้า อาจต้องจ่ายเงินค่าโฆษณาสินค้าที่ต้องกำหนดอายุ เพศ ประเทศ และช่วงเวลาที่ลูกค้าจะได้เห็นโฆษณา เช่น ขายชุดว่ายน้ำสตรีก็ควรเลือกเพศหญิง อายุไม่น้อยและไม่มากเกินไป 5. การชำระเงิน (Payment) ทั้งหน้าร้านออนไลน์ และหน้าร้านออฟไลน์ต้องสามารถรับชำระค่าสินค้าจากลูกค้าได้หลายวิธี เช่น ร้านกาแฟรับชำระจากโครงการคนละครึ่ง เปิดร้านขายของชำก็ต้องรับชำระจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รับบัตรเครดิต บัตรเดบิต รับโอนเงินจากแอปพลิเคชัน ขายของออนไลน์ก็ต้องเชื่อมกับระบบรับชำระเงินที่บริการโดยสถาบันการเงิน พบว่าบางธุรกิจเปิดรับชำระค่าสินค้าด้วยเงินคริปโต 6. การขนส่ง (Logistic) เดิมระบบขนส่งสินค้ามีเพียงบริษัทขนส่งเพียงไม่กี่ราย เช่น บริษัทไปรษณีย์ไทย รถทัวร์ รถไฟ หรือบริษัทขนส่งดั่งเดิม ปัจจุบันมีระบบขนส่งสินค้าเอกชนในประเทศมากมายที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น Kerry Express, Flash Express, J&T, Nim Express และมีบริการเสริมที่เกิดขึ้นอีกมาก อาทิ รับสินค้าถึงบ้าน, Dropship, Dropoff หรือ COD ซึ่งการซื้อขายสินค้าจากต่างประเทศมีบริษัทให้บริการแบบ B2B โดยเฉพาะสั่งซื้อสินค้าจากจีนผ่านระบบคลังสินค้า เช่น Ttpcargo.com ที่มีบริการควบวงจร 7. ผู้ดูแล (Administrator) การเชื่อมองค์ประกอบทุกอย่างเข้ามาเป็นระบบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ซื้อ ผู้ขาย บริษัทขนส่ง สถาบันการเงิน และคลังสินค้า จำเป็นต้องมีผู้ดูแลระบบที่มีความรู้ ความเข้าใจ และความชำนาญมาพัฒนาระบบเทคโนโลยี ทั้งด้านระบบฐานข้อมูล การเขียนโค้ด เครื่องบริการ ระบบเครือข่าย และเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อให้ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติมากที่สุด ซึ่งแบ่งตามลักษณะการพัฒนาระบบได้หลายแบบ ได้แก่ 1) ระบบในองค์กรที่พัฒนาแบบ in house development เช่น บริษัทรถยนต์ บริษัทอหังสาริมทรัพย์ สนามกอล์ฟ ระบบมหาวิทยาลัย 2) ระบบสำเร็จรูปที่ใช้ร่วมกันทั่วโลก เช่น Amazon, Ebay, Alibaba, Lazada, Shopee, Google play, Play store เป็นต้น 3) ระบบเอาท์ซอร์ทมีตัวอย่างระบบจัดการร้านค้าออนไลน์ของไทย เช่น fillgoods.co หรือ ifelse.co หรือ Software house เป็นต้น หรือ 4) ระบบโอเพนท์ซอร์ท เช่น Woocommerce บน Wordpress หรือ Virtualmart บน Joomla หรือ Bagisto บน Laravel เป็นต้น
วิสาหกิจชุมชน (SMCE หรือ small and micro community enterprise) หมายถึง กิจการของชุมชนเกี่ยวกับการผลิตสินค้า การให้บริการหรือการอื่น ๆ ที่ดำเนินการโดยคณะบุคคลที่มีความผูกพัน มีวิถีชีวิตร่วมกันและรวมตัวกันประกอบกิจการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลในรูปแบบใด หรือไม่เป็นนิติบุคคล เพื่อสร้างรายได้และเพื่อการพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชนและระหว่างชุมชน