ผอ.สุวรรณ เกษณา
โรงเรียนบ้านสาด-ผึ้งนาเกลือ
โรงเรียนบ้านไหล่หิน(เดิม)
VDO
| Blog
|
|
สารบัญ
+ ประเด็นเปลี่ยนกันสวดเป็นเงิน : กัณฑ์เทศน์ กัณฑ์สวด
+ บทเรียน กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดในชุมชน
+ บทความ บทส่งท้ายหนังสือเล่มเล็ก โครงการวิจัยรูปแบบการจัดการงานศพฯ
ประเด็นเปลี่ยนกันสวดเป็นเงิน : กัณฑ์เทศน์ กัณฑ์สวด
ปรับปรุง 2551
|
อีกประเด็นที่สำคัญและมีการพูดถึงคือเรื่องของ กัณฑ์เทศน์ กัณฑ์สวด โดย ผอ.สุวรรณ เกษณา นักวิจัย ได้ชวนวิเคราะห์ไว้ว่า การถวายทานสิ่งของหรือปัจจัยให้แก่พระภิกษุสงฆ์เป็นพิธีกรรมหรือองค์ประกอบหนึ่งของพิธีกรรมทางศาสนาพุทธที่พุทธศาสนิกชนได้ถือปฏิบัติมาช้านานตั้งแต่พุทธกาล โดยมาความเชื่อและวัตถุประสงค์ที่คล้ายกันหรือเหมือนกัน
การถวายทานมีวัตถุประสงค์หลักใหญ่ๆ 2 ประการคือ
"เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ได้รับสิ่งของปัจจัยที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและพิธีกรรมทางศาสนา ตามคุณสมบัติของสิ่งของปัจจัยนั้นๆ
"เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับ หรือเจ้ากรรมนายเวรตามความเชื่อที่สืบทอดกันมา
การจัดสิ่งของสำหรับถวายนั้นเป็นตามยุคสมัย ในสมัยก่อนนิยมทำกันคือ การจัดหาวัตถุสิ่งของ ปัจจัย ตามท้องถิ่น มีการประกอบ ปรุงอาหารคาวหวานด้วยตนเอง โดยหาภาชนะใส่ตามความเหมาะสมและสะดวก ข้อเสียก็คือ สิ่งของที่เป็นอาหารประเภทคาวหวาน จะเก็บไว้ได้ไม่นานจะบูดเน่าเสีย การถวายทานเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับนั้นมีความเชื่อวาน สิ่งของต่างๆที่จัดทำนานให้นั้นผู้ล่วงลับหรือดวงวิญญาณจะได้รับ ซึ่งเป็นผลที่เป็นนามธรรม แต่ก็ทำให้เกิดเป็นรูปธรรมได้ คือความสุข ความอิ่มเอิบใจ สบายใจ ให้แก่ผู้ถวายทานนั้น
การถวายทานสามารถทำได้ทุกขณะเวลา และทำได้ทั้งงานมงคลและงายอวมงคล วันสำคัญทางศาสนา ประเพณีทางศาสนา แม้กระทั่งวันเกิด หรือวันสำคัญอื่นๆ สำหรับการถวายทานในงานอวมงคลหรืองานศพ ของถวายทานที่ชาวบ้านเรียกว่า สำรับหรือสังฆทาน ส่วนหนึ่งเป็นสำรับที่เจ้าภาพได้จัดซื้อไว้ถวายทานในวันฌาปนกิจศพหรือวันเสียวันเผาตามความเหมาะสมและความต้องการของเจ้าภาพ หรือการจัดหาซื้อมาถวายทานทุกวันที่ตั้งศพบำเพ็ญกุศล หากไม่มีผู้ใดร่วมถวายสำรับ แต่ปัจจุบันในวันปกติที่ตั้งศพบำเพ็ญกุศลนั้น ส่วนใหญ่จะมีผู้มีจิตศรัทธาร่วมถวายเป็นเจ้าภาพสำรับ เพื่อเป็นกัณฑ์เทศน์กัณฑ์สวดพระอภิธรรม
จำนวนสำรับหรือสังฆทานในแต่ละศพ จะมีมากน้อยไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับฐานะของผู้ล่วงลับหรือฐานะของกลุ่มเครือญาติ เช่น ฐานะทางเศรษฐกิจ ฐานะทางสังคม และฐานะทางเครือญาติ หรือแม้กระทั่งฐานะทางตำแหน่งหน้าที่การงาน ผู้ล่วงลับใดหากมีความพร้อมทางฐานะดังกล่าวมากๆ ก็จะทำให้สำรับนั้นมากตามไปด้วย อีกลักษณะหนึ่งของผู้ที่มาร่วมทำบุญบริจาคสำรับเพื่อร่วมเป็นเจ้าภาพกัณฑ์เทศน์กัณฑ์สวด นอกจากจะเป็นกลุ่มเครือญาติคนสนิท รู้จักกันแล้วยิ่งเป็นลักษณะของการตอบแทน ซึ่งครั้งหนึ่งผู้ล่วงลับหรือกลุ่มญาติของผู้ล่วงลับได้นำสำรับมาร่วมบริจาค เมื่อครั้งตนเองเป็นเจ้าภาพงานศพซึ่งเป็นการกระทำเพื่อเป็นการตอบแทน โดยเจ้าภาพแต่ละศพจะมีบัญชีที่จดไว้ หากมีใครตายในหมู่บ้าน หรือตำบล คนที่เคยเป็นเจ้าภาพก็จะตรวจสอบบัญชีว่ามีใครนำสำรับมาร่วมบ้าง
การได้มาของสำรับที่ให้เป็นกัณฑ์เทศน์กัณฑ์สวดนั้นส่วนใหญ่จะมีอยู่ 2 ทางคือ
"หากการซื้อตามร้านค้าที่ทำสำเร็จรูป ซึ่งมีหลายขนาด หลายราคาขึ้นอยู่กับจำนวนสิ่งของและมูลค่าจองภาชนะที่บรรจุ เช่น ถังน้ำพลาสติก ขันน้ำ ชาม กระติกน้ำ พานเงินพานทอง เป็นต้น ข้อดีคือ มีความใหม่สด ผู้ที่นิยมซื้อคือผู้ที่มีความเชื่อว่าการถวายทานต้องเป็นสิ่งของใหม่ และมีกำลังซื้อได้ ข้อเสียคือ แพงสำหรับผู้ที่ไม่มีกำลังซื้อ
"จากการซื้อหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ปูจา คืนจากพระที่ได้นับทานมา ในราคาสำรับละ 20 บาท เวียนใช้อยู่หลายศพ ข้อดีคือ เหมาะสำหรับที่มีเงินน้อย แต่อยากจะร่วมทำบุญเนื่องจากการถวายสำรับมิใช่เพียงสำรับอย่างเดียว ต้องใส่ซองปัจจัยเป็นเงินอีก ซึ้งต้องใช้เงินมากพอสมควรสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย ข้อเสียคือ สิ่งของที่บรรจุอยู่ในภาชนะนั้นมีอายุนาน ทำให้เกิดการเสีย เน่า บูด ไม่มีคุณภาพ เช่น นมกล่อง
จากการที่คณะวิจัยโครงการวิจัยรูปแบบการจัดงานศพ โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง บ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง ได้เกิดประเด็นแนวคิดที่ว่าในสภาพสังคมเศรษฐกิจปัจจุบันที่ประชาชนมีค่าใช้จ่ายในการครองชีพสูง โดยเฉพาะการจัดงานศพที่เจ้าภาพไม่ได้เตรียมตัวไว้ อีกทั้งได้ใช้จ่ายในการรักษาเยียวยาผู้ป่วยที่ตาย เป็นเงินมากพอสมควร การจัดงานศพที่มีกิจกรรม พิธีกรรมมากมาย และมีค่าใช้จ่ายในการจัดสูง เพื่อให้สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงหาแนวทางที่จะช่วยให้เจ้าภาพที่จัดงานศพ
ได้ลดค่าใช้จ่ายโดยการศึกษาสภาพปัจจุบันปัญหาในส่วนที่เป็นภาระค่าใช้จ่าย และสามารถที่จะดำเนินการในการลดปรับได้ ซึ่งก็ได้ประเด็นที่ควรจะดำเนินการเพื่อให้เกิดการลดค่าใช้จ่าย และมีเงินเหลือจากการจัดงานศพ ได้หลายประเด็น แต่ละประเด็นมีผลการสำรวจที่ต้องการและเห็นด้วยคิดเป็นร้อยละที่สูง ซึ่งพอสรุปได้ว่าเป็นความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง
ในประเด็นที่เปลี่ยนสำรับเป็นเงิน เป็นประเด็นหนึ่งที่คณะวิจัยได้นำเสนอและมีผลสำรวจถึงความต้องการและเห็นด้วยคิดเป็นร้อยละที่สูงพอสมควร โดยในเบื้องต้นคณะผู้วิจัยได้มองและพิจารณา จากสภาพที่เป็นจริงในปัจจุบันถึงจำนวนสำรับที่มีมากในงานศพ โดยพิจารณาว่า หากเปลี่ยนสำรับนั้นเป็นเงินแล้วจะทำให้เจ้าภาพได้เงินเพิ่ม ซึ่งเป็นแนวคิดพื้นฐานที่สมเหตุสมผล
ในทางปฏิบัติที่ชุมชนได้ดำเนินการปัจจุบันตามสภาพจริง สำรับเป็นตัวนำเงินจำนวนมากพอสมควร กล่าวคือ เมื่อมีผู้มีจิตศรัทธา จะร่วมทำบุญบริจาคสำรับเพื่อเป็นเจ้าภาพกัณฑ์เทศน์กัณฑ์สวดในงานศพ มักจะมีกลุ่มญาติใกล้เคียงของผู้ร่วมบริจาค มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินเพื่อใช้เป็นยอดปัจจัยประกอบสำรับที่เจ้าภาพสามารถนำไปบริหารจัดการเป็นยอดปัจจัยถวายพระสงฆ์ได้ตามความเหมาะสม และถ้าอยากมองประเด็นที่เกี่ยวกับสำรับแล้วตัวสำรับไม่ได้เป็นค่าใช้จ่ายหรือเป็นภาระของเจ้าภาพมากมายอะไร เนื่องจากสำรับเป็นรายได้ของเจ้าภาพซึ่งเจ้าภาพคอยรับอยู่แล้วไม่เกิดค่าใช้จ่ายต่อเจ้าภาพ
หากเปลี่ยนสำรับเป็นเงินแล้วประเด็นที่ควรพิจารณา คือ
+ จะทำให้คนที่มาร่วมทำบุญโดยถือสำรับพร้อมกับเงินปัจจัยที่ผู้มีจิตศรัทธารวบรวมกันมา จะหายไปหรือไม่รายได้จะลดลงหรือไม่
+ ในระยะเริ่มแรกดำเนินการ หากความเข้าใจคลาดเคลื่อนผิดพลาดโดยคิดและเข้าใจว่าเงินที่ร่วมบริจาคโดยปกติทำกันอยู่แล้ว เป็นการบริจาคในการร่วมเป็นเจ้าภาพกัณฑ์เทศน์กัณฑ์สวด หากเปลี่ยนเป็นเงินจะเป็นภาระค่าใช้จ่ายให้เจ้าภาพเพิ่มหรือไม่ เพราะเจ้าภาพต้องไปซื้อมาหลายทานในการบำเพ็ญกุศลทุกคืน และต้องซื้อของใหม่ที่มีราคาแพง
+ เมื่อเปลี่ยนสำรับเป็นเงินแล้ว มูลค่าที่เป็นเงินแทนสำรับนั้นควรเป็นเงินเท่าไหร่ ซึ่งปกติผู้คนมักจะใช้สำรับเวียนที่ซื้อหรือปูจา มาจากพระทีมีราคาเพียง 2 0บาท เท่านั้น ในเรื่องนี้ต้องมีการบริหารจัดการ และกำหนดให้เป็นที่เข้าใจตรงกัน
ประเด็นของการเปลี่ยนสำรับเป็นเงิน จึงเป็นประเด็นที่น่าคิดพิจารณา ทบทวนให้ละเอียดถี่ถ้วน เพราะผลที่จะเกิดขึ้นมีทั้งผลบอกและผลลบ
ผลในทางบวก คือ เจ้าภาพจะมีเงินรับมากขึ้นหากทุกคนเข้าใจและมีเกณฑ์หรือกติกาที่ต้องปฏิบัติเหมือนกัน เช่น คนที่จะเป็นเจ้าภาพกัณฑ์เทศน์กัณฑ์สวดต้องร่วมบริจาคเป็นเงินเท่านั้น เท่านี้เป็นต้น
ผลในทางลบ คือ ทั้งตัวคน ตัวสำรับ ตัวเงิน ที่รวบรวมกันมาเหมือนก่อนๆ จะลดลงหรือหายไปหรือไม่ เนื่องจากทุกคนที่ร่วมบริจาคเงินคนละ 10 บาท 20 บาท 50 บาท หรือมากกว่านั้นในแต่ละวัน แต่ละคืน ก็คือการร่วมเป็นเจ้าภาพกัณฑ์เทศน์กัณฑ์สวดอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้คือสำรับเท่านั้น
ประเด็นการเปลี่ยนสำรับเป็นเงินเป็นประเด็นที่ยากในการปฏิบัติพอสมควร เพราะเป็นกติกาที่ยากต่อการควบคุม ซึ่งการร่วมทำบุญโดยการบริจาคถวายสังฆทานมิใช่เป็นเพียงเป็นการช่วยเหลือเจ้าภาพ หากยังเป็นความต้องการและเป็นความเชื่อโดยพื้นฐาน ที่ว่า หากได้ร่วมทำบุญโดยถวายสังฆทานและวจะทำให้เกิดผลบุญ ถวายสังฆทานอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับนั้นไม่สามารถควบคุมกำกับให้เข้าเปลี่ยนเป็นเงินได้ ประเด็นจึงติดกับความเชื่อ อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ของความรูสึกนึกคิดของแต่ละคน
โดยสรุปในประเด็นเปลี่ยนสำรับเป็นเงิน นั้นน่าจะเป็นการกระทำโดนค่อยๆเป็นค่อยๆไป และใช้คำว่า ควรเปลี่ยนสำรับเป็นเงิน และขยายผลไปสู่ความตระหนักของประชาชน ให้เกิดความเข้าใจว่า เจตนาของประเด็นนี้เพื่อต้องกี่อะไร มีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์อย่างไร
รูปแบบการจัดงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงมิใช่ให้เกิดความพอเพียง ในส่วนของเจ้าภาพแต่ฝ่ายเดียว ขณะเดียวกันประชาชนต้องมีความพอเพียงในการร่วมทำบุญเช่นกัน
|
บทเรียน กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดในชุมชน
ปรับปรุง 2552-05-17
|
ชุมชนได้อะไรจากโครงการวิจัย ในเชิงวิชาการชุมชนได้ความรู้พื้นฐาน กับคำว่าวิจัย โดยพื้นฐานทางการศึกษาแล้ว ชุมชนมีระดับการศึกษาที่แตกต่างกัน ซึ่งมีกลุ่มคนจำนวนน้อยในชุมชนที่ผ่านระบบการศึกษาที่รู้จักคำว่าวิจัย มีจำนวนมากที่ไม่รู้จักและไม่เคยได้ยิน และมีจำนวนหนึ่งที่เคยได้ยิน ได้อ่านแต่ไม่รู้ความหมายหรือรู้แต่ไม่ชัดเจน โครงการวิจัยจึงเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการเรียนรู้และเกิดกระบวนการเรียนรู้ให้กับชุมชน จึงทำให้ทุกคนในชุมชนหรือส่วนใหญ่ได้รู้จักคำว่าวิจัย คืออะไร อีกคำหนึ่ง คือคำว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นคำที่ทุกคนได้ยิน ได้ฟัง ได้คุ้นเคยผ่านทางสื่อต่างๆ แต่การที่จะรู้ความหมายอย่างถ่องแท้เพื่อนำไปสู่การปฎิบัตินั้นมีจำนวนน้อย ส่วนใหญ่คิดเพียงเรื่องเศรษฐกิจ การกิน การใช้ และการคิดถึงอาชีพที่เป็นภาคการเกษตรเท่านั้น มองว่าเป็นเรื่องของส่วนตัวและครอบครัวเท่านั้น ซึ่งที่แท้จริง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักการหรือแนวทางในการดำเนินวิถีชีวิตของทุกกลุ่มอาชีพ โดยเริ่มต้นที่ตัวเอง ครอบครัว หน่วยงาน องค์กร ชุมชนและสังคม โครงการวิจัยจึงทำให้เกิดความชัดเจนในองค์ความรู้ กับคำว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้กับชุมชน เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ ไปปฏิบัติที่มีคุณค่าต่อตนเองและสังคม
ชุมชนได้เกิดกระบวนการอย่างน้อย 2 กระบวนการ
1. กระบวนการมีส่วนร่วม การจัดการในงานศพมิใช่มีคนเพียง 2 -3 คน ที่จะดำเนินการได้และตัดสินใจให้เป็นไปตามความต้องการของตนเองได้ทุกอย่าง บางอย่าง บางประเด็น เป็นเงื่อนไข เป็นกติกา เป็นประเพณี ของสังคมที่ต้องปฏิบัติ โครงการวิจัย ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในการใช้กระบวนการของเดรมมิ่ง ( P D C A ) โดยการคิดวางแผนร่วมกันเพื่อให้ได้ประเด็นปัญหาไปสู่การปฏิบัติจริง มีการสำรวจตรวจสอบประเด็นปัญหาใดที่ไม่ชัดเจนในทางปฏิบัติ และนำผลนั้นมาประเมินเพื่อปรับปรุงแก้ไขต่อไป การได้ประเด็นปัญหาของการจัดการงานศพที่มีอยู่มากมายที่มีผลกระทบต่อเจ้าภาพและชุมชนมาบริหารจัดการอย่างได้ผลจึงเป็นเรื่องของการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง
2. กระบวนการประชาธิปไตย การจัดการงานศพเป็นรูปแบบที่จัดสืบต่อกันมาและมีปัญหามากมายที่ไม่มีใครมองหรือมีคนมองแต่มิได้นำเสนอสู่การแก้ไข โครงการวิจัยทำให้ทุกคนมองถึงปัญหาและนำปัญหานั้นมาคิดพร้อมกับนำเสนออย่างมีเหตุผล มีความขัดแย้งในเชิงเหตุผลของแต่ละบุคคล ท้ายสุดเกิดการยอมรับในเหตุผลซึ่งกันและกันและนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างลงตัว ทุกคนจึงเป็นได้ทั้งผู้นำและผู้ตามในกิจกรรมเดียวกัน
รูปแบบการจัดงานศพ เป็นเรื่องของการบริหารจัดการที่เป็นองค์ความรู้ของชุมชน การจัดการงานศพบางเรื่องเป็นความละเอียดอ่อน เป็นกิจกรรมที่ไม่มีการวางแผนหรือเตรียมการไว้ล่วงหน้า จึงจำเป็นที่จะต้องบริหารและจัดการแบบเร่งด่วนและฉับพลัน ซึ่งมีหลักหรือประเด็นที่เป็นกิจกรรมในการบริหารจัดการที่พอจะแยกเป็นประเด็นใหญ่ๆอยู่ 3 ประเด็น คือ พิธีกรรม ความเชื่อ และค่านิยม
1. พิธีกรรม หรือพิธีการ เป็นกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมที่ต้องบริหารจัดการ ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 2 พิธีใหญ่ คือ พิธีทางศาสนา และพิธีทางสังคม
พิธีทางศาสนา เช่น การการนิมนต์พระสงฆ์มาเทศน์ สวด การจัดสำรับปัจจัย
พิธีทางสังคม เช่น การเชิญแขกมาร่วมงาน การบริการต้อนรับ การจัดอาหารเลี้ยงดู การจัดสถานที่ที่พักอาศัย การให้เกียรติผู้ร่วมงานเป็นตัวแทนในการวางผ้าบังสุกุลหรือถวายสำรับปัจจัยแด่พระสงฆ์ เป็นต้น
2. ความเชื่อ เป็นนามธรรมที่สามารถดำเนินการได้เป็นรูปธรรม ความเชื่อเป็นกิจกรรมหรือวิธีการปฏิบัติที่ทำสืบต่อกันมา เช่น ความเชื่อเรื่องของวันดี วันเสีย เป็นความเชื่อที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจากคนรุ่นก่อน ไม่มีใครให้คำตอบที่ชัดเจนอย่างมีเหตุมีผลว่า ดีอย่างไร เสียอย่างไร เพียงแต่เชื่อและปฏิบัติต่อกันมาและเชื่อว่าหากฝืนปฏิบัติแล้วจะเกิดความไม่เป็นมงคล ความวิบัติ ต่อครอบครัวหรือชุมชน ตัวอย่างหรือสถิติของการไม่ปฏิบัติตามความเชื่อนั้นแล้วทำให้บังเกิดสิ่งที่ไม่ดีงามเกิดขึ้นต่อชุมชนและครอบครัว ก็ไม่มีความชัดเจน ความเชื่อจึงเป็นเรื่องของการปฏิบัติตามรุ่นต่อรุ่นมากกว่า ผลกระทบของประเด็นนี้คือ การที่ต้องจัดเก็บศพไว้นานหลายวันด้วยข้อจำกัดของคำว่า วันดี วันเสีย
3. ค่านิยม เป็นกิจกรรมที่ได้ประยุกต์หรือบูรณาการตามสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เพียงมีใครได้คิดและทำเป็นแบบอย่างครั้งหนึ่งก็เกิดการปฏิบัติตามกัน ซึ่งในอดีตไม่เคยมี เช่น การจัดงานเลี้ยงแบบงานรื่นเริงหรืองานมงคล มีดนตรี มีการจัดตั้งโต๊ะเลี้ยงสุราอาหาร การจุดพลุ ดอกไม้ไฟ การจัดให้มีปราสาทสวยงามราคาแพง เป็นต้น ค่านิยมได้ก่อรูปแบบให้สังคมได้ชี้ถึงความเด่น ความด้อย ความมีศักยภาพหรือฐานะของเจ้าภาพ
โครงการวิจัย รูปแบบการจัดการงานศพฯ ได้อาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนมาร่วมคิดและแก้ไขปัญหาที่ซ่อนบ่มอยู่ในการบริหารจัดการ โดยการนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาบูรณาการประยุกต์ใช้ ให้สอดคล้องกับวิถีชุมชนและความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน โครงการได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง รูปแบบ และพฤติกรรมสังคม สู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม
รูปแบบการจัดงานศพเป็นองค์ความรู้ในชุมชนที่มีกระบวนการ เป็นองค์ความรู้ที่มีความยั่งยืน และจะมีพัฒนาการไปอย่างไม่จบสิ้น เป็นไปตามสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงทางสังคม
การจัดรูปแบบงานศพโดยนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงาน การนำประเด็นปัญหาที่เป็นผลกระทบมาสู่การแก้ไขและนำไปปฏิบัติอย่างได้ผลเป็นรูปธรรม จึงเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่เป็นรูปแบบใหม่ในชุมชนที่ต้องปฏิบัติสืบไป
ชุมชนได้นำประเด็นปัญหาที่มีทั้งความง่าย แลความยากในทางปฏิบัติมาจัดการได้อย่างลงตัวถือว่าเป็นความสำเร็จอย่างใหญ่ยิ่งของโครงการ ประเด็นปัญหาที่มีความง่าย เช่น การเปลี่ยนสำรับเป็นเงิน เพียงชี้แจงเหตุผล ความเป็นมาให้กับชุมชนเข้าใจก็สามารถปฏิบัติได้ ประเด็นปัญหาที่มีความยาก เช่น เรื่องของวันดี วันเสีย ซึ่งเป็นความเชื่อที่มีมานานเป็นนามธรรมที่มีความละเอียดอ่อน โดยนำเอาความหายนะ ภัยวิบัติ ความไม่เป็นมงคล มากำหนดหากไม่ปฏิบัติตาม ความยากอยู่ที่การเปลี่ยนความเชื่อโดยการหาเหตุผลมาหักล้าง ที่ทำให้ทุกคนยอมรับและพึงพอใจ
การดำเนินงานตามโครงการวิจัยถือว่ามีความสำเร็จ บรรลุตามวัตถุประสงค์ ชุมชนได้อะไรมากมายจากการมีส่วนร่วมในโครงการนี้ โดยเฉพาะการได้มีส่วนร่วมในการสร้างบรรทัดฐานที่เป็นวิถีชีวิตชุมชนแบบยั่งยืน การได้สร้างพื้นฐานการเป็นนักวิจัยของคนในชุมชน การสร้างความพร้อมให้ชุมชนที่จะมองปัญหาอื่นที่มีอยู่ในชุมชน และเหนือสิ่งอื่นใดคือ ความภาคภูมิใจของคนในชุมชนที่โครงการได้รับคัดเลือกให้เป็นโครงการวิจัยท้องถิ่นดีเด่นระดับประเทศ ความภาคภูมิใจของชาวบ้านไหล่หินอีกประการหนึ่งคือ การที่ได้มีส่วนร่วม หรือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างตัวแบบในการจัดงานศพที่สามารถขยายผลไปสู่หมู่บ้านใกล้เคียงได้ปฏิบัติตาม ต้องขอขอบคุณ สกว.ที่มอบโอกาสให้เกิดกระบวนการสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีในชุมชน
อีกโอกาสหนึ่งในระบบการศึกษาในสถานศึกษาที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการ คือการนำเอาองค์ความรู้ที่มีอยู่ในการจัดงานศพ มาจัดทำเป็นสาระหลักสูตรท้องถิ่น ให้บุตรหลานได้เกิดการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการได้เห็นการปฏิบัติจริงของชุมชน ซึ่งมีเกือบทุกสาระอยู่ในองค์ความรู้นั้น
ท้องถิ่น ชุมชน มีปัญหาซ่อนบ่มอยู่มากมาย ที่รอรับการแก้ไขและพัฒนา เพื่อสร้างความสงบสุขให้ชุมชน เพียงแต่ว่าจะมีใครเสียสละเวลาและกล้าเป็นผู้นำในการมองปัญหานั้น ๆ แล้วสืบค้นเพื่อแก้ไข โดยการอาศัยการสนับสนุน จาก สกว.ท้องถิ่น ที่พร้อมให้การสนับสนุน ซึ่งถือว่า สกว. มีส่วนช่วยสร้างและขัดเกลาสังคม นำชุมชนให้เกิดการขับเคลื่อนตนเอง เกิดการเปลี่ยนแปลง พัฒนา นำความสุข ความสงบสู่ชุมชนท้องถิ่นได้ตามสถานการณ์
+ http://www.thaiall.com/blog/suwan/251/
|
บทความ บทส่งท้ายหนังสือเล่มเล็ก โครงการวิจัยรูปแบบการจัดการงานศพฯ
ปรับปรุง 2552-10-03
|
โครงการวิจัยได้เริ่มขึ้นจากการศึกษาปัญหาที่มีอยู่ในชุมชน ซึ่งมีอยู่มากมาย ชุมชนได้เลือกประเด็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อสังคมโดยรวมและเป็นปัญหาที่ส่วนรวมต้องการแก้ไข
การจัดงานศพเป็นประเพณี เป็นกิจกรรมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาและต้องปฏิบัติสืบต่อกันไปไม่สิ้นสุด มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัยบ้าง มีวัฒนธรรม องค์ความรู้มากมายในกิจกรรมการจัดงานศพ ขณะเดียวกันก็มีปัญหาอีกมากมายที่ซ่อนบ่มอยู่ในการบริหารจัดการ เพียงแต่ว่าไม่มีใครได้หยิบยกเอาประเด็นปัญหาขึ้นมาบริหารจัดการให้เกิดเป็นรูปธรรม ชุมชนได้วิเคราะห์ปัญหาที่เป็นประเด็นปัญหาหลักที่มีผลกระทบต่อชุมชน ต่อเจ้าภาพงานศพ โดยเฉพาะประเด็นปัญหาค่าใช้จ่ายในการจัดการที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามค่านิยมของสังคม
ทำอย่างไรจะแก้ปัญหาที่มีค่าใช้จ่ายสูงให้ลดลงให้เกิดความพอเพียง จึงได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจมาบูรณาการในการบริหารจัดการ โดยชี้ให้ชุมชนได้รู้และเข้าใจถึงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่จะนำมาใช้และนำไปสู่การปฏิบัติจริงร่วมกัน
การจัดงานศพไม่ได้จัดตามความคิด แนวคิดหรือความต้องการของเจ้าภาพ หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ บางประเด็น บางกิจกรรมเป็นเรื่องของประเพณี วัฒนธรรม มีเงื่อนไขกติกาทางสังคมที่ทุกคนต้องยอมรับ และปฏิบัติตาม การจัดงานศพจึงเป็นงานที่สังคมหรือชุมชนต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน ปัญหาก็ถูกนำมาแก้ไขร่วมกัน ยอมรับมติหรือแนวทางร่วมกัน
การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข มาสร้างเป็นองค์ความรู้ให้ชุมชนได้เข้าใจและเกิดความตระหนักจึงทำให้โครงการวิจัยรูปแบบการจัดงานศพโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกิดผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ประเด็นปัญหาได้รับการแก้ไข พัฒนา ปรับปรุง นำสู่การปฏิบัติจริงได้อย่างลงตัว และที่สำคัญเกิดจากที่ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
โครงการวิจัยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีต่อชุมชน เช่น ค่าใช้จ่ายลดลง ค่านิยมที่ทำให้เกิดความฟุ่มเฟือยหมดไป เช่น การจัดตั้งโต๊ะเลี้ยงสุรา อาหารแบบงานมงคลไม่มี ความเชื่อบางอย่างได้รับการแก้ไข เช่น ความเชื่อเรื่องของวันดี วันเสีย ที่เจ้าภาพต้องเก็บศพไว้นาน ก็เปลี่ยนไปที่ทุกคนยอมรับและปฏิบัติได้
สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นและเป็นประโยชน์มากจากโครงการวิจัยคือการจัดนำเอาองค์ความรู้ไปจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษา โดยบูรณาการในสาระการเรียนรู้ เพื่อให้บุตรหลานที่อยู่ในท้องถิ่นได้เรียนรู้ควบคู่กับการได้เห็น การปฏิบัติจากผู้ใหญ่ในชุมชน หรือการนำไปสู่การจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นก็จะเป็นประโยขน์อย่างยิ่งต่อการจัดการการศึกษาในท้องถิ่น
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทางที่ดี เป็นผลดีต่อทุกคน จึงเป็นหน้าที่ของทุกคน ที่จะต้องรักษาให้คงไว้ ปฏิบัติสืบต่อไป เนื่องจากกิจกรรมการจัดงานศพไม่มีวันสิ้นสุด รุ่นต่อรุ่น อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงบ้างก็เป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคม แต่ในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ดีควรรักษาไว้ เพื่อการปฏิบัติ รักษาไว้เพื่อเป็นแบบอย่าง และที่สำคัญควรจะนำวิธีคิด แนวทาง วิธีปฏิบัติที่เกิดผลนี้ ไปขยายผลสู่สังคม สู่ชุมชนอื่นให้ยึดถือและเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป
|
|