#552 สังคมไม่ยอมรับการทุจริตสอบ
ไม่มีสังคมใดในโลกยอมรับการทุจริต เพราะการทุจริตสอบของนักเรียนคนหนึ่ง หมายถึงการเอารัดเอาเปรียบนักเรียนคนอื่นที่ร่วมกันสอบทั้งหมด คุณครูเองหรือกรรมการคุมสอบก็จะยอมให้มีการทุจริตสอบเกิดขึ้นไม่ได้ เป็นความไม่ยุติธรรมต่อผู้เข้าร่วมสอบแข่งขันทั้งหมด ทุกครั้งที่มีข่าวการทุจริตก็จะเป็นที่สนใจของสังคมทั้งทุจริตสอบครู สอบตำรวจ หรือสอบแพทย์ ยิ่งสื่อสังคมได้รับความนิยมเท่าใด การทุจริตก็ยิ่งเป็นที่สนใจ แพร่ได้เร็ว และได้รับการติดตามใกล้ชิด ทำให้การพิจารณาโทษของการทุจริตเป็นเรื่องผ่อนปรนไม่ได้ เพราะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่ดำเนินการตามระเบียบที่บัญญัติไว้
การทุจริตสอบเกิดขึ้นหลายรูปแบบ ที่เกิดขึ้นได้ง่ายและเห็นในภาพยนตร์ ก็มีทั้งแบบที่รู้คำตอบล่วงหน้าก่อนเข้าสอบจากการที่ข้อสอบรั่ว และแบบที่ไปหาคำตอบกันในห้องสอบ หากทุจริตคนเดียวก็จะใช้วิธีแอบจดสูตร สมการ ขั้นตอน หรือแนวคำตอบเข้าห้องสอบ อาจเป็นกระดาษซ่อนไว้ในชายเสื้อ กระเป๋าลับ หรือจดไว้ตามแขนขาฝ่ามือ หากทำกันหลายคนก็อาจเป็นการส่งคำตอบให้กัน ผ่านกระดาษโน้ต ยางลบ แลกกระดาษคำตอบ แลกข้อสอบที่จดคำตอบลงไปแล้ว การยกกระดาษคำตอบให้เพื่อนรอบโต๊ะได้เห็นและลอกตาม นั่งตัวเอียงให้เพื่อนด้านหลังได้เห็นคำตอบ การส่งสัญญาณมือ หรือใช้ภาษากายอื่น การผลัดกันออกไปเข้าห้องน้ำ แล้วใช้ห้องน้ำเป็นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ วิธีโบราณที่สุด คือ พูดคุยกันในห้องสอบ เหมาะกับห้องสอบที่มีขนาดใหญ่ และชิดกัน
การใช้เทคโนโลยีในยุคนี้ปรากฏเป็นข่าวดังหลายครั้ง ถ้าใช้อุปกรณ์ในระดับบุคคล หรือระหว่างสองคนก็เป็นเพียงการแอบพกอุปกรณ์เข้าห้องสอบ เพื่อแอบเปิดอุปกรณ์ค้นหาคำตอบ หรือหาข้อมูลที่เกี่ยวกับคำถาม อาจใช้สื่อสารกันผ่านบรูทูช แชท อีเมล หรือเอสเอ็มเอส แต่ที่ยอมรับไม่ได้และมีโทษร้ายแรง คือ การใช้อุปกรณ์ที่ทำกันเป็นกระบวนการมีความผิดตามกฎหมายทั้งลักทรัพย์และฉ้อโกง ด้วยการมีผู้รับจ้างจัดเตรียมอุปกรณ์ มีทีมเข้าไปนำข้อสอบออกมา ทีมทำหน้าที่เฉลยคำตอบ ทีมส่งคำตอบกลับไปให้ผู้สอบ และกลุ่มผู้สอบที่ทำการทุจริต อุปกรณ์และวิธีการที่ใช้ก็ต่างกันไปในแต่ละครั้ง มีทั้งแบบแนบเนียนที่ใส่ไว้ในทวารหนัก หรือสวมให้เห็นกันเลยก็มี ต่อไปจะทุจริต หรือจะคุมสอบก็ต้องคิดกันเยอะขึ้น เพราะมีบทเรียนมาให้เรียนรู้กันหลายบทแล้ว
http://thainame.net/edu/?p=4055
http://www.dailynews.co.th/education/397229
http://www.unigang.com/Article/9009
http://www.unigang.com/Article/9009