#548 อีคอมเมิร์ซจีนร่วมลงทุนในลาซาด้า
ข่าวไอทีช่วงต้นเดือนเมษายน 2559 ที่มีการแชร์กันมากคงหนีไม่พ้นการที่ Alibaba group เข้าลงทุนใน Lazada ของ Tesco เป็นเงิน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้มีวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นกว่า 1000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่ง Lazada เป็นผู้ให้บริการระบบอีคอมเมิร์ซในหลายประเทศทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย คนไทยใช้บริการกันมากเพื่อนผมที่ทำงานก็ซื้อของหลายอย่าง อาทิ เครื่องวัดความดัน และใช้บริการระบบขนส่ง (Express) จนพนักงานส่งของรู้จัก เพราะมาส่งถึงอาคารที่ทำงาน
ส่วน Alibaba group เป็นบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) แบบ B2B ก่อตั้งโดยอดีตครูสอนภาษาอังกฤษ แจ๊ค หม่า มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของประเทศจีน การเข้ามาร่วมทุนครั้งนี้ ทำให้สินค้าของจีนที่มีต้นทุนต่ำจะเข้ามาตีตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวแบบไม่ต้องสงสัยด้วยข้อได้เปรียบด้านราคา เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเดิม และด้วยแบรนด์ที่แข็งแกร่งของลาซาด้า ย่อมส่งผลถึงสินค้าเอสเอ็มอี (SME) ของไทยที่คงต้องปรับตัวยกใหญ่อย่างน่าเป็นห่วง กลยุทธ์เรื่องราคาที่เปิดให้ผู้ค้าแข่งกันหั่นราคากันเองเป็นจุดเด่นที่ทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
อ.เกียรติ เล่าว่า ebay บริการให้ผู้ขายส่งสินค้าเข้าไปเปิดประมูล (Bid) ลูกค้าที่ให้ราคาดีกว่าก็จะได้สินค้าไป คล้ายกับบริการของ chilindo แต่ถ้าต้องการซื้อเลยไม่ต้องประมูลแข่งกันทาง ebay ก็มีบริการให้ผู้ขายเปิดรับแบบ Buy It Now คือ สั่งซื้อทันทีตามราคาที่ผู้ขายตั้งไว้ ผู้ขายบางรายเปิดรับแบบ Make Offer คือ ต่อรองราคากับผู้ขาย เช่น ผู้ขายตั้งราคา 100 ผู้ซื้อเสนอ 90 ผู้ขายขอเป็น 95 แล้วการขายก็ปิดลงด้วยความพอใจของทุกฝ่ายได้ เป็นอีกทางเลือกที่ ebay มีให้ สงครามราคาเห็นได้ชัดมากในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับราคา ส่วนแบรนด์ การส่งสินค้า การชำระเงิน การรับประกัน ก็เป็นปัจจัยรองลงมา ซึ่งผู้ให้บริการธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะเป็นผู้รับผิดชอบจัดการเรื่องเหล่านี้ ต่อไปเราจะได้เห็นสินค้าที่หลากหลายและราคาต่ำจากจีนในลาซาด้า ก็ต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการพัฒนาการค้าขายออนไลน์ของแต่ละค่ายกันต่อไป
https://www.blognone.com/node/79933
https://www.techinasia.com/alibaba-buys-controlling-stake-lazada