ไอทีในชีวิตประจำวัน #494 ใช้เน็ตบ่อยอาจหลงคิดว่ารู้แล้ว ()
ท่านเคยค้นข้อมูลผ่าน google.com หรือ yahoo.com หรือไม่ ถ้าเคยค้นพบข้อมูลที่ต้องการ แล้วรู้สึกดีใจที่เราได้ความรู้มาโดยง่าย และนำไปใช้ได้อย่างมีความสุข แต่ไม่ได้จดจำเหมือนการทำรายงานของนักเรียน นั่นกำลังเข้าข่ายหลงตัวเอง ดังผลวิจัยของมหาวิทยาลัยเยลที่ตีพิมพ์ผลงานในวารสาร Experimental Psychology การค้นหาความรู้ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า Search Engine เป็นประจำจะวางใจว่าความรู้อยู่ในอินเทอร์เน็ต แล้วไม่พยายามจำเข้าไปในสมองเป็นความจำระยะยาว ก็เหมือนกับคนที่ใช้เครื่องคิดเลขเป็นประจำ ก็จะวางใจอุปกรณ์ แล้วไม่พยายามบวกลบคูณหารเอง เช่น ซื้อก๋วยเตี๋ยวถุงละ 35 บาทจำนวน 3 ถุง ต้องได้ตังทอนเท่าไรอาจตอบไม่ได้
ข้อมูลที่ได้จากอินเทอร์เน็ตสามารถค้นหาได้ง่าย แต่ไม่เสถียร และไม่น่าเชื่อถือ สิ่งที่ค้นพบในวันนี้อาจหายไปในวันข้างหน้า และสิ่งที่ค้นพบอาจไม่ถูกต้องเป็นจริงทุกครั้งไป เหมือนข้อมูลหลอกลวงที่ถูกจัดทำขึ้นมากมายในช่วงที่เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน คนที่ค้นหาข้อมูลเป็นประจำจะรู้สึกว่าตนเองฉลาดและรู้มากกว่า แม้ยังไม่ได้เริ่มค้นหา หรือไม่มีข้อมูลที่ค้นหาอยู่จริงแต่ก็ยังมีความเชื่อมั่น ต่างกับการค้นหาแบบเดิมจากแหล่งเดิม เมื่อค้นพบก็จะจดจำเข้าไปในความจำระยะยาวมากกว่า เพราะการค้นหาแต่ละเรื่องต้องใช้เวลา ใช้แหล่งข้อมูลมาก จึงต้องจดจำให้ได้มากที่สุด ไม่เหมือนความรู้จากอินเทอร์เน็ตที่ผู้สืบค้นเชื่อว่าจำไม่ได้ก็จะกลับมาค้นใหม่ได้ ทำให้ความพยายามในการจดจำความรู้ที่ได้เป็นความรู้ระยะยาวลดลง
ทีมวิจัยให้รายละเอียดว่า ผู้สืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตจะสับสนระหว่างสิ่งที่ตนคิดว่ารู้ กับสิ่งที่ตนเองรู้จริง เนื่องจากเชื่อว่าความรู้ในอินเทอร์เน็ตค้นหาง่ายจนบางครั้งอาจแยกได้ยากว่าสิ่งที่รู้จริง กับสิ่งอยู่ในอินเทอร์เน็ตนั้นห่างกัน ก็จะส่งผลให้การดึงความรู้ไปใช้ในเวลาที่ต้องการอาจไม่บรรลุผล เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องเวลา และสถานที่หากเป็นความรู้ภายนอก ถ้าเป็นความรู้ภายในที่รู้จริงก็จะเรียกใช้ได้ทันที จึงเป็นข้อพึงระวังว่าอย่าปล่อยให้ความรู้จริงกับภายนอกห่างกันเกินไป ให้พัฒนาความรู้ภายนอกมาเป็นความรู้ภายในให้มากที่สุด เพื่อจะเรียกใช้ได้ทันทีเมื่อต้องการ
http://news.voicetv.co.th/world/187764.html
http://rt.com/usa/245777-search-engines-inflate-knowledge-perception/
|