ไอทีในชีวิตประจำวัน #468 สังคมก้มหน้า ()
มนุษย์เราถูกยอมรับว่าเป็นสัตว์สังคมมานาน มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมหาอาหาร เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ สร้างบ้านเมือง แลกเปลี่ยนสินค้า โดยเฉพาะสังคมครอบครัวของไทย ถือเป็นสังคมที่เหนียวแน่นที่เคยอยู่รวมกันทั้งปู่ ย่า ตา ยาย ลูก หลาน เหลน จนเมื่อไม่นานมานี้ มนุษย์พัฒนาตนเองให้มีความเจริญขึ้น เกิดการแยกตัวระหว่างสังคมเมือง และสังคมชนบทอย่างชัดเจน เป็นผลให้ครอบครัวไทยมีการแยกตัวผ่านกลไกทางการศึกษา เด็กมักต้องไปเรียนหนังสือในเมือง เมื่อมีความรู้สูงขึ้นก็จะเข้าไปทำงานในเมือง ทำให้สังคมครอบครัวมีขนาดเล็กลงเหลือเพียงพ่อแม่ลูกและอาศัยในบ้านขนาดเล็กลงตามหัวเมืองใหญ่
ความเจริญของเทคโนโลยีการสื่อสาร ทำให้เกิดพฤติกรรมใหม่ที่เรียกว่า สังคมก้มหน้า (Social ignore) คือ การเพกเฉยต่อสังคมรอบตัว แต่ให้ความสำคัญกับสังคมเสมือนจริงมากกว่า ในอดีตเรามักสื่อสารโต้ตอบกับคนใกล้ตัวโดยไม่ต้องอาศัยเครื่องมือทางเทคโนโลยีก็สามารถพูดคุย แสดงกิริยา หรือสัมผัสกันได้โดยตรง เมื่อสังคมเสมือนจริงเข้ามาเป็นที่นิยม ช่วยให้การสื่อสารได้สะดวกทั้งระหว่างบุคคล เป็นกลุ่ม หรือสาธารณะก็ทำได้ในทุกที่ทุกเวลา ทำให้ความสัมพันธ์ในสังคมกับคนรอบตัวเปลี่ยนไป เพราะเวลามีจำกัด แต่ละเสี้ยวเวลาก็จะทำได้เพียงกิจกรรมเดียว หากติดอยู่กับกิจกรรมหนึ่งก็อาจเพิกเฉยต่ออีกกิจกรรมหนึ่งโดยไม่รู้ตัว
เคยดูคลิ๊ป disconnect to connect ของ dtac ที่แสดงให้เห็นชัดว่าปัจจุบันพ่อแม่กับลูก เริ่มมีความสัมพันธ์ที่ถอยห่าง แม้อยู่ด้วยกัน ทานข้าวด้วยกัน แต่ก็ก้มหน้าก้มตาคุยกับคนในสังคมเสมือนจริง ในสังคมคนทำงานที่ประชุมร่วมกับเพื่อน หรืออยู่กับแฟน ก็ยังแยกตัวเองไปอยู่ในสังคมเสมือนจริง เช่น อัพเฟส (update facebook status) หรือส่งไลน์สติกเกอร์ (line sticker) หรือทวีต (tweet) หรือดูคลิ๊ปในยูทูป ทั้งที่เวลานั้นมีกิจกรรมที่ต้องทำร่วมกับคนใกล้ตัว ถือเป็นการเพิกเฉย (ignore) ต่อการทำกิจกรรมร่วมกัน แม้ยังไม่ใช่ปัญหาสังคมที่รุนแรง แต่สะท้อนถึงมารยาทของคนในสังคมที่เสพติดสังคมเสมือนจริง ที่ให้ความสำคัญต่อคนใกล้ตัวน้อยกว่า ปัญหาทั้งหมดแก้ได้ด้วยการทำให้ผู้คนรักษามารยาทที่มีต่อครอบครัว เพื่อน และความตระหนักถึงประโยชน์ที่แท้จริงของการสื่อสาร มิใช่เลือกที่จะสื่อสารเพื่อความบันเทิงส่วนตัวอย่างเดียว
|