ไอทีในชีวิตประจำวัน #402 การสื่อสารคือศาสตร์ที่เป็นธรรมชาติ ()
ศาสตร์ คือ ความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงและกฎที่จัดไว้อย่างเป็นระบบ ส่วนการสื่อสารคือ กระบวนการถ่ายทอด แลกเปลี่ยน รับส่งสารระหว่างบุคคล ซึ่งมีความเชื่อว่าการสื่อสารที่ดีนั้นจำเป็นต้องการเรียนรู้จากผู้มีความรู้ อาจเรียนจากโรงเรียน จากมืออาชีพ หรือจากการลองผิดลองถูกด้วยตนเอง หากจะสื่อสารให้ดีก็ต้องเรียนในระดับปริญญาตรี โท หรือเอก เพื่อจะได้ใบรับรองว่ามีความรู้ความสามารถที่จะสื่อสารให้ใครเข้าใจได้ง่าย แต่ความคิดนี้เปลี่ยนไปในยุคโลกไร้พรมแดน เพราะมีบทเรียนปรากฎให้เห็นเป็นประจักษ์ว่าทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพมีคนที่สามารถสื่อสารได้ดีอย่างน่าชื่นชม โดยไม่ต้องร่ำเรียนตามระบบที่จัดวางไว้ในสถานศึกษา
วันหนึ่งได้ฟังนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เล่าให้ฟังว่าต้องวาดการ์ตูนส่งงานคุณครูก็รู้สึกว่าธรรมดา แต่เมื่อทราบรายละเอียดก็รู้สึกว่ากระบวนการสื่อสารในปัจจุบันเป็นศาสตร์ที่เป็นธรรมชาติ และกลมกลืนไปกับวิถีชีวิตแล้ว อาทิ งานในวิชาภาษาอังกฤษต้องสื่อสารให้คุณครูเข้าใจผ่านการวาดภาพสองมิติโดยมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับ Present simple tense ผ่านภาพการ์ตูนจำนวน 3 ฉาก โดยใช้บริการเว็บไซต์ toondoo.com ซึ่งเป็นแนว Social media website เมื่อวาดเสร็จแล้วก็แชร์ให้คุณครูผ่านอีเมล และคัดลอก URL ไปวางไว้ใน Facebook group ของชั้นเรียน ให้เพื่อนร่วมห้องได้ร่วมแลกเปลี่ยน หรือจะเข้าไปแลกเปลี่ยนในเว็บไซต์วาดการ์ตูนก็ได้
ไม่เข้าถ้ำเสือก็ไม่ได้ลูกเสือ ซึ่งคุณครูสามารถเลือกได้ที่จะสร้างเวทีสำหรับสื่อสารในระบบที่โรงเรียนพัฒนาขึ้นที่เรียกว่าระบบอีเลินนิ่ง แต่ก็ไม่ได้เลือกเช่นนั้นเสมอไป เพราะเราทราบกันดีว่าเด็กยุคใหม่จำนวนไม่น้อยสนใจการใช้เครื่องมือสื่อสารทั้ง iphone หรือ ipad หรือ smart phone พูดคุยกัน และใช้บริการของ Facebook จำนวนมากถึงขั้นเสพติดก็ว่าได้ ดังนั้นคุณครูจำนวนไม่น้อยต้องเปลี่ยนพฤติกรรมจากเก็บตัวเงียบไม่พูดคุยกับเด็ก ต้องไปเข้าสังคมของเด็ก สรรหาบริการที่ดีมีประโยชน์ให้เด็กได้ใช้บริการ แล้วดึงเด็กเข้าสู่สังคมแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การแสดงออกเชิงสร้างสรรค์ ให้มีประสบการณ์และพัฒนาทักษะการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ (Communication Skill for Learning) แล้วแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่จะก่อประโยชน์ให้กับตนเอง และคนรอบข้างมากกว่าที่เป็นอยู่
|