ไอทีในชีวิตประจำวัน # 396 งานประชุมวิชาการระดับชาติที่กรุงเทพ ()
ในประเทศไทยมีการจัดประชุมทางวิชาการระดับชาติ และนานาชาติมากว่า 10 ปีแล้ว โดยส่วนใหญ่จัดโดยสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา สำหรับจังหวัดลำปางมีการรวมตัวกันของสถาบันทั้งในและต่างประเทศเพื่อจัดเวทีให้นักวิชาการ และนักศึกษาได้นำผลงานที่ได้จากการค้นคว้าวิจัยมานำเสนอในเวทีที่มีผู้สนใจในเรื่องคล้ายกัน เป็นเวทีแลกเปลี่ยนและแบ่งปัน แต่เวทีแบบนี้มักเกิดที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 9 - 10 พ.ค.2556 ผู้เขียนได้ร่วมงานการประชุมทางวิชาการระดับชาติด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กรุงเทพฯ โดยมีรศ.ดร.พยุง มีสัจ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นประธานจัดงานครั้งนี้
มีบทความเข้ารับการพิจารณาจำนวน 265 ผลงานที่มาจาก 40 สถาบัน ทุกบทความต้องผ่านการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 3 ท่าน หากได้รับการตอบรับอย่างน้อย 2 ใน 3 ท่านก็ถือว่าผ่านและเข้านำเสนอปากเปล่าในเวทีได้ ซึ่งปี 2556 มีบทความผ่านการพิจารณาทั้งสิ้น 161 ผลงาน จะบรรจุในเอกสารรวมเล่มรายงานผลวิจัยงานประชุมวิชาการ Proceedings of NCCIT 2013 บทความเหล่านี้มีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ และสามารถนำไปใช้งานได้จริง เพราะผ่านการวางแผน ทบทวน ทดสอบ และสรุปผล รวมทั้งมีข้อเสนอแนะสำหรับผู้สนใจที่จะนำไปพัฒนาต่อยอด
การนำเสนอผลงานแบ่งออกเป็นห้อง ซึ่งผู้เข้าร่วมฟังจะมีค่าลงทะเบียน 2000 บาท ส่วนผู้นำเสนอมีค่าลงทะเบียน 4000 บาท แต่ผู้เข้าฟังไม่สามารถฟังทุกเรื่อง เพราะแบ่งห้องนำเสนอเป็นหลายห้องและทุกห้องนำเสนอพร้อมกัน จึงต้องเลือกหัวข้อในแต่ละห้องตามตารางนำเสนอ ซึ่งแบ่งได้ 4 กลุ่ม คือ Data Mining and Machine Learning, Data Network and Communication, Human-Computer Interface and Image Processing และ Information Technology and Computer Education ในปีนี้ผู้เขียนสนใจเรื่อง Ontology และ Semantic keyword ทำให้ได้เทคนิคในการพัฒนาระบบสืบค้นโดยใช้คำค้นที่ผ่านการทำออนโทโลยี ส่วนจะนำไปใช้กับข้อมูลระบบใดก็คงต้องเป็นคำถามใหม่ที่ต้องขบคิดกันต่อไป
|