ไอทีในชีวิตประจำวัน # 312 อุทกภัย 2554 ()
น้ำท่วมปีพ.ศ.2554 จะเป็นครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ต้องจารึกไว้ เพราะน้ำเริ่มท่วมสูง กินบริเวณกว้าง และยาวนาน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ถึงพฤศจิกายน จากพายุหลายลูกทั้ง พายุไหหม่า พายุนกเตน พายุไห่ถาง พายุเนสาด และพายุนาลแก โดยเฉพาะผลกระทบที่ก่อความเสียหายทั้งภาคธุรกิจ การเกษตร และที่พักอาศัย ในเดือนตุลาคมมีรายงานว่ามีพื้นที่ที่ยังประสบภัยมี 26 จังหวัด นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งถูกน้ำท่วมเสียหายนับแสนล้านบาท ส่วนเขื่อนใหญ่ในประเทศ 33 เขื่อน พบว่ามีปริมาณ น้ำเกินกว่าร้อยละ 80 ถึง 26 เขื่อนแล้ว
เรามีความรู้เรื่องอุทกภัยกันเป็นอย่างดี แต่ปัญหาอยู่ที่ประสบการณ์ในการรับมือ และความไม่แน่นอนของธรรมชาติ เพราะพายุฝนที่เกิดขึ้นในปีนี้ทำให้เกิดน้ำก้อนใหญ่ และทางน้ำที่มีอยู่ไม่สามารถรองรับการไหลของน้ำได้ทัน เมื่อน้ำทุกสายไปรวมกันที่ภาคกลางก็จะเอ่อท่วมพื้นที่ราบริมแม่น้ำ หรือที่ต่ำกว่า แล้วขยายออกไปเท่ากับปริมาณน้ำที่จะขยายไปได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่คาดไม่ได้กับทุกพื้นที่ ปัจจุบันเราสามารถพยากรณ์การมาของพายุ และเฝ้าระวังได้ แต่เราคาดไม่ถึงในความรุนแรงของสายน้ำทำให้การป้องกันที่มีไม่เพียงพอกับปริมาณและความรุนแรง จนทำให้กำแพงพัง ฝายกันน้ำแตก หรือปริมาณน้ำสูงกว่าคันกั้นน้ำ ในระบบอินเทอร์เน็ตมีข้อมูลให้ตรวจผลการเตือนภัยน้ำท่วมในกรุงเทพฯ มีการสร้างแนวป้องกันน้ำสูงกว่า 2 เมตรครึ่ง แต่ความเสียหายที่เราพบในข่าวทุกวันนี้คือนอกเขตกรุงเทพฯ ซึ่งรุนแรงอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อนในช่วงอายุของเรา
ข้อมูลเกี่ยวกับภัยพิบัติในแต่ละพื้นที่ การทำงานของรัฐบาลในการป้องกัน การบรรเทาทุกข์ของสื่อมวลชน ล้วนสืบค้นและพบได้ในเว็บไซต์ด้านสื่อแบบนาทีต่อนาที แม้เราจะมีความรู้เรื่องอุทกภัยทั้งจากประสบการณ์ในอดีต การนำเสนอบทเรียนน้ำท่วมจากผ่านภาพยนตร์หลายเรื่อง แต่ความรู้ กับการรับรู้ก็ยังไม่สัมพันธ์กัน มีคำถามเกิดขึ้นตามสื่อว่าปีต่อไปจะเกิดเหตุแบบนี้หรือไม่ ต้องทำอย่างไร โดยใครที่ไหนจะเป็นพื้นที่รับน้ำ ใช้งบเท่าใดเพื่อป้องกัน แก้ไข และเยียวยา เพราะที่ผ่านมาเราสามารถควบคุมทิศทางของน้ำผ่านประตูน้ำให้น้ำเข้าท่วมพื้นที่เป้าหมายได้ แล้วนั้นก็เป็นที่มาของข้อพิพาทระหว่างชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อน
|