ไอทีในชีวิตประจำวัน # 259 วิธีการสำรองข้อมูล ()
ข้อมูลที่อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์สามารถจำแนกได้หลายประเภท ในที่นี้จะชี้เฉพาะไปที่ระบบปฏิบัติการวินโดว์ ซึ่งระบบถูกออกแบบให้มีการจัดเก็บข้อมูลทั้งหมดไว้ในห้อง My Documents และมีห้องย่อยลงไปเป็นหมวดหมู่ เช่น My Music, My Pictrues, My Videos, My Received Files, My Drivers, My Download และจำนวนห้องจะเพิ่มขึ้นเมื่อมีการติดตั้งโปรแกรมประยุกต์เพิ่มเติม (Application Software) เป็นการสะดวกที่ผู้ใช้จะเข้าถึงข้อมูลทั้งหมดจากตำแหน่งเดียวภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ เสริมให้การสำรองข้อมูล หรือการสืบค้นทำได้อย่างรวดเร็ว
เมื่อเวลาผ่านไปจำนวนแฟ้ม หรือห้องเก็บข้อมูลเพิ่มขึ้นตามการใช้งาน ซึ่งผู้ใช้ก็จะเห็นความสำคัญ แล้ววางแผนการสำรองข้อมูล (Backup) เพราะเครื่องคอมพิวเตอร์ก็มีสภาพไม่ต่างกับมนุษย์ที่มีอายุการใช้งาน อาจชำรุด เสื่อมสภาพ ส่งซ่อม หรือซื้อใหม่ในที่สุด ส่วนข้อมูลที่มีอยู่หลายประเภท เช่น ภาพงานแต่งงาน ภาพรับปริญญา ภาพกิจกรรมของครอบครัว แฟ้มรายงานการประชุม หนังสั้นในหน่วยงาน เสียงจากการประชุม ข้อมูลเว็บไซต์ ล้วนแต่ไม่อาจปล่อยให้เสื่อมสภาพไปตามฮาร์ดแวร์ย่อมต้องมีมาตรการเก็บรักษา และส่งต่อไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์อีกเครื่องหนึ่งได้
การสำรองข้อมูล คือ การทำสำเนาหรือคัดลอกข้อมูลให้ถูกจัดเก็บไว้มากกว่าแหล่งเดียว อาทิ การคัดลอกภาพจากกล้องดิจิทอลไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ แล้วเขียนลงซีดีไว้ในตู้ แล้วอัพโหลดไว้ใน 4shared.com และ facebook.com แล้วนำภาพมาทำเป็นสไลด์พร้อมใส่เสียงเป็นหนังสั้นส่งเข้า youtube.com แล้วส่งภาพทั้งหมดให้เพื่อนร่วมงานอีกสิบคนทางอีเมล แต่ถ้าเครื่องคอมพิวเตอร์ของท่านมีแฟ้มข้อมูลรวมกันหลายสิบกิกะไบท์ แล้วต้องการจัดเก็บก็จำเป็นต้องสำรองอย่างเป็นระบบ เนื่องจากขนาดคือตัวปัญหา วิธีคัดลอกตามปกติไปไว้ในสื่อประเภทอื่นจะเหมาะกับข้อมูลที่มีปริมาณไม่มากนัก การบีบอัดข้อมูลก่อนการคัดลอกก็เป็นวิธีที่ดี แต่การสำรองด้วยโปรแกรม Backup ของ Microsoft Windows เป็นวิธีที่น่าสนใจที่สุด เพราะสำเนาอย่างเป็นระบบผ่านการแยกรุ่นในแต่ละครั้ง เลือกที่แตกต่าง สำเนาเฉพาะที่มาใหม่ หรือกำหนดเวลาในการสำเนา เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากสื่อเก็บข้อมูลที่มีจำกัดมีความสมเหตุสมผล
|