ไอทีในชีวิตประจำวัน # 225 อวตารที่ไม่ใช่อวตาร (25 มกราคม 2553 - 31 มกราคม 2553)
ปัจจุบันคำว่า อวตาร (Avatar) ถูกใช้ในหลายโอกาส ทั้งในชื่อภาพยนต์ แสดงเป็นตัวแทนในเว็บไซต์ หรือการแบ่งภาคของเทพ ซึ่งต้นกำเนิดของคำนี้มาจากความเชื่อของศาสนาฮินดู ว่า อวตารคือการแบ่งภาคของเทพในศาสนามาเกิดบนโลกมนุษย์ อาจแบ่งมาเกิดเป็นมนุษย์หรือสัตว์ก็ได้ เพื่อมาทำหน้าที่บรรเทาความเดือดร้อนของมนุษย์ ส่วนความเชื่อของชาวพุทธนิกายวัชรยานมีความเชื่อว่าพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์อวตารหรือแบ่งภาคได้เช่นกัน อาทิ ชาวพุทธในทิเบตเชื่อว่า ทะไล ลามะ เป็นอวตารของพระอวโลกิเตศวร และ ปันเชน ลามะ เป็นอวตารของพระอมิตาภะพุทธะ เป็นต้น
ภาพยนต์เรื่องอวตาร 2552 แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาทางเทคโนโลยีมัลติมีเดีย และจินตนาการทางวิทยาศาสตร์ในการย้ายจิตวิญญาณจากร่างหนึ่งไปสู่อีกร่างหนึ่งเสมือนการเข้าสิง หรือการถอดร่างออกไปควบคุมร่างใหม่ หรือร่างอวตาร โดยร่างเดิมไม่มีความรู้สึกนึกคิดหลงเหลืออยู่ เมื่อปิดเครื่องส่งถ่ายจิตวิญญาณจะทำให้ดึงจิตวิญญาณจากร่างอวตารกลับมายังร่างจริงในทันที แนวคิดนี้ต่างกับอวตารในความเชื่อทางศาสนาในประเด็นที่เทพสามารถแบ่งพลังเพียงส่วนหนึ่งไปเป็นร่างใหม่ที่มีความรู้สึกนึกคิดของตนเอง แต่ในภาพยนต์คือการย้ายจิตวิญญาณไปยังร่างใหม่
คำว่า Avatar ที่เราพบในเว็บไซต์เป็น อวตารคอมพิวเตอร์ คือ สัญลักษณ์แสดงตัวตนของเจ้าของ พบได้ในเว็บไซต์เครือข่ายสังคม เกมคอมพิวเตอร์ เว็บบอร์ด มีลักษณะเป็นภาพไอคอน ภาพการ์ตูน ภาพถ่าย หรือภาพเสมือนจริง ในความหมายนี้อวตารเป็นเพียงตัวแทนแสดงตน แสดงความรู้สึก รูปลักษณ์ หรือลักษณะที่เจ้าของอวตารต้องการสื่อสาร ไปพร้อมกับบทบาท บทความ บล็อก สารสนเทศ หรือเว็บไซต์ ซึ่งเป็นตัวแทนที่ขาดการเชื่อมโยงทางจิตวิญญาณกับเจ้าของอย่างแท้จริง เพราะหากข้อมูลลบ หรืออวตารถูกเปลี่ยน เจ้าของจะไม่รู้ถึงการเปลี่ยนเหล่านั้นแต่จะทราบได้ก็ต่อเมื่อมีใครแจ้งให้ทราบหรือกลับมาเปิดดูอีกครั้งเท่านั้น ก็มีคำถามว่าท่านมีอวตารหรือเข้าใจความต่างของอวตารทั้ง 3 แบบว่าอย่างไร
|