thaiall logomy background

จริยธรรมสำหรับผู้บริหาร สัมพันธภาพในและนอกเวลางานพลังบวกที่ต่างมุมในการบริหารทีม - 66

my town
ธรรมะ | ครู | สื่อ | ผู้บริหาร | พยาบาล | สาธารณสุข | เทคนิคการแพทย์ | ทันตแพทย์ | กฎหมายไอที | ศีล 5 | ผลกระทบ PDPA | งานมอบหมาย | เพิ่มประสิทธิภาพ |

66. สัมพันธภาพใน และ นอกเวลางาน พลังบวกที่ต่างมุมในการบริหารทีม

ท่านมีสัมพันธ์กับคนในที่ทำงานอย่างไรบ้าง? และ ท่านเคยไปทานข้าว หรือ กิจกรรมที่ไม่ใช่งานกับ หัวหน้า เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง หรือ ไม่? ปีละกี่ครั้ง?
โดยพื้นฐานแล้วมนุษย์เป็นสัตว์สังคม (Social Animal) ที่จะอยู่เป็นกลุ่มก้อน มีความผูกพัน และ สื่อสารสังคมระหว่างกัน ทั้งในชีวิตส่วนตัว ครอบครัว กลุ่มเพื่อน กลุ่มกิจกรรม และ รวมถึงในสถานที่ทำงานด้วย
ในสถานที่ทำงาน ย่อมมีการสานสัมพันธ์ หรือ มนุษยสัมพันธ์ (Human Relation) ที่มีสัมพันธภาพระหว่างกัน ที่อาจแบ่งเป็น 2 ลักษณะ
1) ความสัมพันธ์ในที่ทำงาน (Inside Work Relationship)
ความสัมพันธ์ในที่ทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น "ความสัมพันธ์แบบทางการ (Formal Relationship)" เป็นหลัก ได้แก่
1.1 ความสัมพันธ์โดยโครงสร้าง (Organizational Structure Relationship)
เป็นความสัมพันธ์ตามการแบ่งส่วนงาน ระดับชั้น และ ลำดับที่เชื่อมกันในโครงสร้างองค์กร ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างแบบใด ได้แก่
- โครงสร้างแบบส่วนงาน (Functional Structure)
- โครงสร้างแบบตามกลุ่มลูกค้า (Customer Structure)
- โครงสร้างตามกลุ่มสินค้า (Product Structure)
- โครงสร้างตามภูมิศาสตร์องค์กร (Geographic Stucture)
- โครงสร้างแบบผสมผสานรูปแบบ (Matrix Structure)
จากโครงสร้างต่างๆ ก็จะมีคน 3 ระดับที่ต้องมีความสัมพันธ์กันในงาน ได้แก่
- ระดับบนที่สูงขึ้นไป (หัวหน้างาน/ ผู้บริหารระดับสูงกว่า)
ซึ่งจะมีปฏิสัมพันธ์ เช่น การขอนโยบาย การขอคำปรึกษา การประชุมหารือ การให้ช่วยตัดสินใจ หรือ การแก้ปัญหาในระดับที่สูงขึ้น
- ระดับเดียวกัน (เพื่อนร่วมงาน)
ที่จะเป็นลักษณะความสัมพันธ์ในการร่วมงาน เช่น การปรึกษาหารือ การแบ่งหน้าที่งาน การเชื่อมงานกัน การปนะชุมวางแผน ประเมิน และ การสรุปผลงานส่วนตน และ ภาพรวม
- ระดับล่างลงไป (ลูกน้อง/ ผู้ใต้บังคับบัญชา)
จะเป็นความสัมพันธ์ผ่านงาน จัดตาราง/ แจกจ่ายงาน การให้คำแนะนำ การสอนงาน การสรุปความคืบหน้า และ สรุปผลงานร่วมกัน
1.2 ความสัมพันธ์ตามการเชื่อมไหลของงาน (Working Process Relationship)
การทำงานบางครั้งเป็นการเชื่อมงานแบบ "กระบวนการ (Process)" ที่เกิดขึ้นตามลักษณะ ปัจจัยนำเข้า (Input) และ ปัจจัยส่งออก (Output) ระหว่างกัน เช่น ส่วนงาน A มีงานส่งออกไปเชื่อมเป็นปัจจัยนำเข้าของส่วนงาน B ต่อไป เป็นต้น หรือ ภาพรวมทั้งองค์กรจากต้นน้ำไปถึงปลายน้ำในลักษณะแบบ ห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) หรือ ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)ขององค์กรที่เชื่อมกันทั้งองค์กร
จากความสัมพันธ์ในที่ทำงาน (Inside Work Relationship) ดังกล่าวนี้ ไม่ว่าจะกับใคร ถ้าอยู่ภายใต้หลักธรรม "สาราณียธรรม 6 " ระหว่างกัน ได้แก่
1-เมตตามโนกรรม คือ คิดดี
2-เมตตาวจีกรรม คือ พูดแต่สิ่งดีๆ
3-เมตตากายกรรม คือ ทำดีต่อกัน
4-สาธารณโภคี คือ เอื้อเฟื้อ แบ่งปัน
5-สีลสามัญญตา คือ อยู่ในกฎเกณฑ์ กฎระเบียบที่ใช้ร่วมกัน
6-ทิฏฐิสามัญญตา คือ มีความเป็นกลางในเรื่องต่างๆ หาจุดร่วม ในข้อคิดต่าง
ซึ่งการมีความสัมพันธ์ที่ดีนำมาซึ่งข้อดี 3 ประการ 1.เข้าใจตนเอง 2.เข้าใจผู้อื่น 3.ยอมรับความแตกต่างระหว่างกัน และ สามารถส่งผลดีในการทำงานร่วมกัน และ ภาพรวมองค์กรด้วยนั่นเอง
2)ความสัมพันธ์นอกที่ทำงาน(Outside Work Relationship)
เป็นความสัมพันธ์ที่แตกต่างออกไป เป็นลักษณะที่ไม่เป็นทางการ (Informal Relationship) ระหว่างกัน นอกเหนือจากเวลางาน ดังนั้น อาจมีจำนวนไม่มากนักที่จะมีความสัมพันธ์นอกจากเวลาทำงานด้วยกันตามปกติ แต่เป็นการสานสัมพันธ์ด้วย "มิตรภาพ (Friendship)" ที่อาจจะนอกเหนือกรอบของตำแหน่งหน้าที่ หรือ หัวโขนในองค์กร ที่อาจมี 2 ลักษณะ
2.1 การเข้าสังคมกลุ่ม (Group Social)
โดยการมีกลุ่มที่อาจจะมีตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปด้วยกันเองไม่ใช่ด้วยองค์กร ที่มีการทำกิจกรรมร่วมกันได้หลายรูปแบบ เช่น การทานข้าว สังสรรค์ เข้าสังคม ใช้เวลาว่างร่วมกัน เยี่ยมเยียนไปบ้านระหว่างกันในกลุ่ม การเล่นกีฬา การดูหนังฟังเพลง การท่องเที่ยว เข้าชมรมต่างๆร่วมกัน เป็นต้น
2.2 กิจกรรมนอกเวลางานขององค์กร (Organization Activities)
บางครั้ง องค์กรอาจเป็นแกนกลางในการสร้างความสัมพันธ์นอกเวลาให้เอง เพราะเป็นการเสริมสร้างเพื่อ
- ละลายพฤติกรรม ไม่ให้ติดกรอบในงาน และ ตำแหน่ง
- ค้นหา และ พัฒนาบุคลากรในแนวทางใหม่ๆ
- ใช้เวลานอกงานปกติร่วมกัน ทบทวนวางแผน และ แนวทางพัฒนา องค์กรด้านต่างๆต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ อาจจะทำผ่านรูปแบบ
1) การจัดกีฬา กิจกรรมสันทนาการ - เกมส์
2) การท่องเที่ยว/ ทัศนศึกษา-ศึกษาดูงาน
3) การจัดกิจกรรมฐานกลุ่ม เพื่อเรียนรู้ และ สร้างสัมพันธ์
4) การจัดเลี้ยง งานรื่นเริง หรือ งานสรุปมอบรางวัลผลงานประจำปี
5) งานกึ่งวิชาการ อบรม สัมมนา หรือ การเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เป็นต้น
โดยสรุปแล้วความสัมพันธ์ในที่ทำงาน และ ความสัมพันธ์นอกที่ทำงาน ต่างก็มีข้อดีในรูปแบบที่ต่างกัน เสริมกำลังในความสัมพันธ์ที่ต่างมิติกัน เป็นพลังบวกเพื่อมิตรภาพให้ตัวเรา และ คนรอบข้างที่จะส่งผลดีทั้งกายใจเรา และ องค์กรเป็นสำคัญ
เพราะโลกมันกว้าง คนข้างๆในที่ทำงานจึงสำคัญ
ท่านล่ะทุกวันนี้ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคน 360 องศา รอบตัว "ในงาน" และ "นอกงาน" อย่างไรบ้าง

ด้วยความปรารถนาดี ผศ. ดร.กฤษฎา ตันเปาว์
31 ธันวาคม 2565

Thaiall.com